แก้ปัญหาโรงยิมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)
ปัญหาต่างๆ ของเสียงที่เกิดขึ้นภายหลังที่มีการติดตั้งระบบเสียงที่โรงยิมแห่งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบสถานที่แห่งนั้น ไม่ได้คำนึงถึงระบบเสียงตั้งแต่แรก เมื่อมีการติดตั้งระบบเสียงจึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานที่เหล่านั้นจะมีปัญหามากมายก็ตาม หากว่าผู้ติดตั้งเข้าใจระบบเสียง และมีความเชี่ยวชาญมากพอ มีอุปกรณ์ที่ดี ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ไขได้ บทความนี้จะพาคุณไปศึกษาวิธีการแก้ปัญหาของโรงยิมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ที่อยู่ใจกลาง กรุงเทพฯ
จุดเริ่มต้นของโปรเจค
การติดตั้งเคสนี้ ปัญหาเกิดจากเสียงในโรงยิมซึ่งมีการติดตั้งระบบเสียงมานานแล้วฟังไม่รู้เรื่อง เสียงไม่ชัด ไมค์หอน ไม่สามารถรับฟังได้ทั่วพื้นที่ ดังนั้นทางโรงเรียนสาธิต มศว. ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) จึงได้มอบหมายให้ทางบริษัท Music Space เข้าไปแก้ปัญหาระบบเสียงที่โรงยิมแห่งนี้
แนวทางการแก้ปัญหา
หลังจากที่ได้เข้าไปคุยกับทางอาจารย์ที่ดูแลและรับทราบปัญหาต่างๆแล้วทางเทคนิคเชี่ยน (คุณปริญญา สงวนสิน) ได้เริ่มทำการปรับเปลี่ยน โดยการติดตั้งตำแหน่งลำโพงใหม่ (ย้ายจากตำแหน่งเดิม) ซึ่งเดิมทีตำแหน่งของลำโพงนั้นอยู่ลึกเข้าไปด้านหลังเวที นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไมค์หอน เพราะเวลาใช้งานจริง ตำแหน่งไมค์จะถูกใช้ ในจุดหน้าตู้ลำโพง ซึ่งเป็นตำแหน่งของลำโพง PA (ลำโพงไลน์อาร์เรย์ Tasso) แม้จะมีการปรับแต่งเสียง เพื่อลดปัญหาอาการหอนก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะยิ่งปรับยิ่งทำให้เสียงผิดเพี้ยนได้
อีกปัญหาคือเดิมตำแหน่งของลำโพงไม่สามารถกระจายเสียงไปได้รอบๆ พื้นที่ของโรงยิมได้ ดังนั้น ผู้ติดตั้งจึงทำการย้ายตำแหน่งลำโพงใหม่ แล้วกำหนดองศาของลำโพงแต่ละใบให้เสียงกระจายครอบคลุมแต่ละพื้นที่
สำหรับลำโพงไลน์อาร์เรย์ที่เป็นเมน PA นั้นใช้ข้างละ 4 ใบ โดยกำหนดให้ใบล่างสุดโฟกัสพื้นที่ด้านหน้า โดยมีระยะ 10-15 เมตร ส่วนใบที่ 2 ถูกกำหนดไล่เรียงพื้นที่กันไป จนถึงใบที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ถึงด้านหลัง
ขณะเดียวกันตำแหน่งตรงกลางเวที หรือด้านหน้าเวที (Center) เสียงจะเบาบาง จึงได้เพิ่มลำโพงเข้าไปตำแหน่งนี้อีก 2 ใบ (ลำโพง QSC KW122) เพื่อให้พื้นที่บริเวณนั้นได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น
รวมถึงมีการติดตั้งลำโพงในจุดรอบๆ โรงยิม (ด้านซ้าย 2 ใบ ด้านขวา 2 ใบ เป็นลำโพง QSC KW122 รวมถึงด้านหลังอีก 2 ใบ Quest QM450A ซึ่งเป็นลำโพงเดิม) โดยลำโพงดีเลย์ที่เพิ่มเติมมาทั้งหมด 6 ใบ และของเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 2 ใบ เป็นลำโพงที่มีภาคขยายในตัวหรือ Powered Speaker เพื่อให้เสียงนั้นครอบคลุมโรงยิมอย่างทั่วถึง
ข้อมูลเทคนิค
เมื่อมีลำโพงจำนวนมาก เสียงจากลำโพงแต่ละใบจึงมาไม่พร้อมกัน ผู้ติดตั้งได้กำหนดจุดโฟกัสแต่ละพื้นที่ แล้วใช้อุปกรณ์หน่วงสัญญาณเสียงเพื่อให้เสียงของลำโพงในแต่ละพื้นที่เดินทางมาพร้อมกัน ทำให้ผู้ฟังไม่ว่าจะยืนอยู่ตำแหน่งใด สามารถได้ยินเสียงเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเทคนิคการทำ Delay โดยมีการใช้เลเซอร์วัดระยะทางได้อย่างแม่นยำ บวกกับการนำซอฟต์แวร์มาใช้ตรวจสอบสัญญาณเสียงให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ปัญหาของโรงยิมที่นี่อีกอย่างคือเรื่องความก้อง หากไปเพิ่มความดังระบบเสียงอย่างเดียวจะทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง ผู้ติดตั้งจึงออกแบบระบบโดยการกระจายตำแหน่งลำโพงหลายๆ จุด แล้วทำการโฟกัสเป็นจุดๆ ไป จากนั้นปรับความดังให้พอดี ซึ่งเสียงมันจะไม่ดังจนล้นแล้วไปสะท้อนตีกลับมา นั่นจะส่งผลทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้จัดการสัญญาณเสียงต่างๆ ภายในโรงยิม คือ Symetrix Solus NX8x8 ซึ่งโพรเซสเซอร์ตัวนี้สามารถควบคุมสัญญาณเสียงของลำโพงได้ทุกใบเลยทีเดียว แนวทางการแก้ปัญหาระบบเสียง โดยทั่วไป.. อย่างแรกต้องรู้ประสิทธิภาพของเครื่องก่อน ต้องรู้ว่าเครื่องเสียงมีอะไรบ้าง แล้วเราให้เครื่องเสียงทำงานอย่างเต็มกำลังของมันก่อน ทำอย่างไรให้อุปกรณ์แต่ละอย่างทำงานได้เต็มที่ ค่อยมาไล่เรียงสัญญาณต่างๆ ให้มันสมูธที่สุด ไม่ใช่การเร่งสัญญาณเฉพาะจุด หรือลดบางจุด ถ้าจัดการตรงนี้ได้อย่างอื่นก็ไม่ยาก
ลำโพงแต่ละใบจะถูกรีดประสิทธิภาพออกมาให้มากที่สุด ผู้ติดตั้งจะเช็คการตอบสนองของเสียงภายในโรงยิม เช่น ความถี่ไหนมากเกินไป และคิดว่าจะสร้างปัญหาจะถูกลดทอนตัดออกไป ในเคสนี้แม้ว่าลำโพงจะใช้ยี่ห้อ/รุ่นต่างกัน แต่ถ้าลำโพงเหล่านั้นมีการตอบสนองความถี่ที่เราต้องการ เราสามารถทำให้เสียงที่ออกมากลมกลืนไปด้วยกันได้หมด
สำหรับโปรเจคนี้ ขั้นตอนที่ใช้เวลาในการติดตั้งคือขั้นตอนการทำ Alignment ระบบเสียง ที่ต้องมีการจัดการกับความถี่ในบางย่าน ที่เป็นปัญหา การใช้เสียงที่โรงยิมแห่งนี้จะเน้นเสียงพูดเป็นหลัก ถ้ามีย่านไหนรบกวนการฟัง จะถูกตัดออก สำหรับการใช้งานที่นี่ จะมีการเปิดเพลงเป็นบางครั้ง แต่เสียงพูดจะไม่ไปออกตู้ซับวูฟเฟอร์มากนัก
ในการแก้ปัญหาเรื่องเสียง ผู้ติดตั้งจะเน้นการฟัง และปรับจูนเสียงให้เข้ากับสภาพโรงยิมเป็นหลัก การติดตั้งระบบเสียงที่นี่จะคล้ายคลึงกับการติดตั้งระบบเสียงในผับเธค โดยใช้วิธีการทำงานแบบเดียวกัน
โรงยิมแห่งนี้ได้ติดตั้งตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ด้านบน ถามว่าทำไมตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์จึงไปอยู่ด้านบน เหตุผลเพราะผู้ติดตั้งทำงานตามโจทย์ของลูกค้า ซึ่งเสียงเบสที่ออกมาจากตู้นั้น ไม่ได้แตกต่างจากวางบนพื้นมากนัก แม้ว่าจะอยู่ด้านบนก็ตาม อีกอย่างผู้ติดตั้งเชื่อว่าสามารถทำได้จึงทำตามโจทย์นี้ อีกอย่างการใช้เสียงที่นี่ ไม่ต้องการเบสแบบคอนเสิร์ต EDM ที่ต้องการเบสกระแทกพื้น การติดตั้งตู้ซับไว้ด้านบนจึงไม่ใช่ปัญหา
โปรเจคนี้มีการใช้ลำโพงไลน์อาร์เรย์ของ Tasso ข้างละ 4 ใบ และตู้ลำโพงรอบๆ โดยใช้ของ QSC แบบแอคตีฟซึ่งมีเพาเวอร์แอมป์ในตัว ส่วนด้านหลังใช้ของ Quest ซึ่งลำโพงไลน์อาร์เรย์จะควบคุมให้กระจายเสียงบริเวณด้านหน้า-ตรงกลาง-หลัง ส่วนตู้ด้านหลังจะโปรยเสียงเข้ามาผสานกันอย่างลงตัว
ส่วนห้องคอนโทรลใช้เพาเวอร์แอมป์ CAMCO D-Power4 6 ตัว ใช้ขับตู้ลำโพงไลน์อาร์เรย์และตู้ซับวูฟเฟอร์, กราฟฟิก EQ 2 ตัว (สำหรับมอนิเตอร์บนเวที), โพรเซสเซอร์ของ Symetrix รุ่น Solus NX 8×8 ทำให้งานติดตั้งครั้งนี้ง่ายขึ้น หากไม่มีโพรเซสเซอร์ตัวนี้ การทำงานโปรเจคนี้คงเป็นเรื่องยากมาก ส่วนมิกเซอร์ใช้ของ Soundcraft รุ่น Signature 16 เป็นอะนาลอกมิกเซอร์
บทสรุป
ปัญหาของระบบเสียงไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ตาม เช่น เกิดจากสถานที่ติดตั้ง หรือเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ไม่เหมาะสม หากเรารู้และเข้าใจปัญหา ทุกอย่างล้วนสามารถแก้ไขได้
ผู้แก้ไขและออกแบบระบบ: ต้น Parinya Sanguansin
บทความโดย : อจ.เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม (Bobby Rambo)
หากมีข้อสงสัยประการใดในการเลือกซื้อ ระบบภาพหรือระบบเครื่องเสียงสำหรับโรงยิม
สามารถขอคำปรึกษาติดต่อมาที่บริษัท Musicspace ยินดีให้บริการปรึกษา พร้อมคำแนะนำ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียง
โทร. 022031821 , 026414744